เครื่องเทศและสมุนไพร

เครื่องเทศ (Spices) หมายถึง ส่วนต่างๆของพืชที่นำมาใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารหรือเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอม สารประกอบอินทรีย์ที่เป็นกลิ่นหอมของเครื่องเทศนั้นมาจากส่วนที่เป็นน้ำมัน (Fixed oil) และน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ส่วนรสชาติที่เผ็ดร้อนนั้นมาจากส่วนที่เป็นยาง (Resins) นอกจากนี้ยังมีสารอื่นๆอีก เช่น แป้ง น้ำตาล แร่ธาตุ และวิตามินบางชนิด เป็นต้น เนื่องจากทั้งรสชาติที่เผ็ดร้อนหรือฝาดและกลิ่นที่หอมของเครื่องเทศทำให้สิ่งเหล่านี้ไปกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยและน้ำลาย ทำให้รู้สึกว่าอาหารอร่อยขึ้น นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยยังช่วยให้อาหารมีอายุยาวนานขึ้นเนื่องจากสารบางอย่างในน้ำมันหอมระเหยจะเป็นตัวยับยั้งหรือทำลายแบคทีเรียบางชนิดได้ โดยเครื่องเทศเป็นกลุ่มที่นำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นส่วนประกอบอาหาร โดยมากจะใช้ประโยชน์เพื่อ การปรุงรสมากกว่าเพื่อต้องการคุณค่าทางอาหาร

 

ส่วนสมุนไพรเป็นพืชอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีการปลูกใช้ประโยชน์มานานแล้ว เพราะบางชนิดสามารถนำมารับประทานเป็นอาหาร ให้คุณค่าทางอาหารและยังให้รสชาติที่ทำให้เจริญอาหาร สมุนไพรหลายชนิดยังมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค ช่วยย่อย อาหาร แก้อาการท้องอึด ท้องเฟ้อ ในอดีตการปลูกสมุนไพรมักทำกันในลักษณะการปลูกผักสวนครัว ริมรั้ว หลังบ้าน ตามที่ว่างเปล่า จะใช้ประโยชน์เมื่อใดก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ทันที แต่ในระยะหลังเนื่องจากมีประชากรมากขึ้น และ ส่วนหนึ่งได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ที่มักมีพื้นที่บ้านเรือนจำกัด ไม่มีพื้นที่ว่างเพียงพอกับการปลูกผักสวนครัวต่าง ๆ พืชผักเพื่อการบริโภคทุกอย่างต้องได้จากการซื้อหา เมื่อมีความต้องการซื้อ จึงมีผู้หันมาปลูกผักสมุนไพรขายกันมากขึ้น นอกจากนี้สมุนไพรบางอย่างที่มีสรรพคุณเป็นยา สามารถนำมาสกัดเอาสารที่มีอยู่ภายในมาใช้ทำยาสมุนไพร หรือนำไปเป็นส่วนประกอบของใช้เพื่อการอุปโภคในชีวิตประจำวัน เช่น เป็นส่วนผสมของสบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิว น้ำหอม ยาดม น้ำมันหอมระเหย ฯลฯ ด้วยประโยชน์ของสมุนไพรมีมากมายดังที่กล่าวมาแล้ว ความต้องการใช้สมุนไพร จึงมีมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในระยะหลังที่คนเริ่มตื่นตัวในเรื่องพิษภัยอันตรายจากสารเคมี และหันมาให้ความสนใจ ต่อสารที่สกัดจากธรรมชาติกันมากขึ้น ยิ่งทำให้ความต้องการใช้สมุนไพรยิ่งมีมากขึ้นตามลำดับ การปลูกสมุนไพรขาย จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่งซึ่งมีอนาคตที่ดี ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของการปลูกสมุนไพรก็คือมักจะไม่ค่อยมีโรค แมลงรบกวน จึงใช้ สารเคมีเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่ต้องใช้เลย ทำให้ประหยัดต้นทุนในส่วนนี้ลงได้

เครื่องเทศและสมุนไพรนั้นแบ่งแยกตามประโยชน์ของการใช้โดยแบ่งออกเป็นหลายลักษณะดังต่อไปนี้

1.ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย สมุนไพรในกลุ่มนี้เป็นพวกที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในตัว สามารถนำมาสกัดโดยวิธี นำมากลั่น ซึ่งจะมีกลิ่นและปริมาณที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของสมุนไพร สมุนไพรประเภทน้ำมันหอมระเหยที่รู้จักกันดี ได้แก่ ตะไคร้หอมและน้ำมันตะไคร้หอมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสบู่ แชมพู น้ำหอม และสารไล่แมลง ไพลน้ำมันและไพล ใช้ในผลิตภัณฑ์ครีมทาภายนอก ลดการอักเสบฟกช้ำ กระวาน และน้ำมันกระวานใช้แต่งกลิ่นเหล้า เครื่องดื่มต่าง ๆ และอุตสาหกรรมน้ำหอม พลู และน้ำมันพลู ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือเจลทาภายนอกแก้อาการคัน

2.ใช้เป็นยารับประทาน มีสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้รับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคต่าง ๆ ได้แก่ บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร แก้ไข้ เจ็บคอ กะเพรา ไพล ขิง แก้ท้องอึด ท้องเฟ้อ ขี้เหล็ก ไมยราบ ใช้ ระงับประสาท คำฝอย กระเจี๊ยบแดง กระเทียมใช้ลดไขมันในเส้นเลือด

3.ใช้เป็นยาทาภายนอก เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำบัดโรคที่เกิดตามผิวหนัง รวมทั้งแผลที่เกิดในช่องปาก ได้แก่ บัวบก หว้า โทงเทง รักษาแผลในปาก ฝรั่ง กานพลู ระงับกลิ่นปาก ผักบุ้งทะเล เสลดพังพอน ตำลึง เท้ายายม่อมเป็นยาทาแก้แพ้ บัวบก ยาสูบ ว่านหางจรเข้ใช้รักษาแผลน้ำร้อนลวก ตำลึง พุดตาน ว่านมหากาฬ เสลดพังพอน งูสวัด

4.ใช้ทำเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่ม เป็นเครื่องดื่มที่สกัดจากธรรมชาติที่ยังให้ประโยชน์ในการรักษาโรค ควบคู่ไปด้วย ได้แก่ บุก ให้ประโยชน์ในการดูดจับไขมันจากเส้นเลือด และลดน้ำหนัก ส้มแขก ใช้ในการดูดไขมัน ช่วยลดน้ำหนัก หญ้าหนวดแมว หญ้าหวาน คำฝอย เห็ดหลินจือ ช่วยลดน้ำหนักและบำรุงสุขภาพ

5.ใช้ทำเครื่องสำอาง มีสมุนไพรหลายชนิดในปัจจุบันที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางค์และได้รับความนิยมอย่างดี เนื่องจากผู้ใช้มั่นใจว่าปลอดภัยมากกว่าการใช้สารเคมี ได้แก่ ว่านหางจรเข้ อัญชัน มะคำดีควาย โดยนำมา ใช้เป็นส่วนผสมของแชมพู ครีมนวดผม สบู โลชั่นบำรุงผิว ฯลฯ

6.ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช มักเป็นสมุนไพรจำพวกที่มีฤทธิ์เบื่อเมา หรือมีรสขม ข้อดีคือไม่มีฤทธิ์ตกค้าง ที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สะเดา ยาสูบ ตะไคร้หอม ไพล เป็นต้น

7.ใช้บริโภคเป็นอาหารและเครื่องเทศ สมุนไพรในกลุ่มนี้จัดว่าเป็นพืชผักสมุนไพร นั่นเองสามารถนำมารับประทาน ให้คุณค่าทางอาหาร เพิ่มรสชาติ ดับกลิ่นคาว และยังช่วยย่อยอาหาร ได้แก่ กระเพรา โหระพา แมงลัก ผักชี สะระแหน่ ขิง ข่า กระชาย บางชนิดเป็นพืชผักสมุนไพรเมืองหนาว เช่น พาร์สเร่ย์ หรือผักชีฝรั่ง เฟนเนล (ผักชีลาว) เปบเปอร์มิ้นท์ ออริกาโน่ ทีม ไชฟ์ ดิล มาร์เจอร์แรม เซจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชพุ่มเตี้ย ใช้ส่วนของใบมาทานสด หรือแกงเป็นเครื่องเทศ ชูรส เป็นต้น

สินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรน่าจะเป็นสินค้าหนึ่งในอนาคตที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต ซึ่งจะช่วยทำรายได้เข้าประเทศมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ อาทิ มีทรัพยากรเครื่องเทศและสมุนไพรหลากหลายชนิดภายในประเทศ มีทำเลที่ตั้ง ภูมิอากาศ และความสมบูรณ์ของดินเหมาะสมในการเพาะปลูก มีตำรายาแผนโบราณที่มีคุณประโยชน์ในการรักษาสุขภาพสามารถนำมาประยุกต์เข้ากับตำรายาแผนปัจจุบันได้ เห็นควรส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกสมุนไพรในเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น